GNU Project
Last updated
Was this helpful?
Last updated
Was this helpful?
ได้ถูกริเริ่มจากนักวิจัยจาก M.I.T ชื่อนาย Richard Matthew Stallman ซึ่งถูกเรียกขานว่า RMS เนื่องจากระบบปฏิบัติการ UNIX ไม่ได้ฟรีอีกต่อไปแล้ว โครงการ GNU นี้จึงได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1984 โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้คือการพยายามเริ่มต้นสร้างแกนหลักของระบบปฏิบัติการ (Core OS) หรือเคอร์เนล (Kernel) โดยเรียกกันว่า HURD รวมถึงการสร้างกลุ่มโปรแกรมเครื่องมือต่างๆ เช่น C compiler (gcc), make (GNU make), Emacs, C library (glibc), และ coreutils (เช่นคำสั่ง ls, cp เป็นต้น) ใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ฟรีเพื่อทดแทนระบบปฏิบัติการ UNIX แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาตัว HURD ก็ยังไม่เป็นไปตามแผนจำเป็นต้องหยุดกลางคัน นอกจากนั้น Stallman ได้ก่อตั้งองค์กรซอฟท์แวร์เสรี (Free Software Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาซอฟท์แวร์เสรี ที่มีบทบาทมากในปัจจุบันนี้
ระบบปฏิบัติการที่มีบทบาทในการกระตุ้นวงการพัฒนา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากโครงการ GNU คือระบบปฏิบัติการ MINIX ย่อมาจาก “Minimal UNIX” ภายใต้พื้นฐานสถาปัตยกรรม Microkernel ซึ่งถูกพัฒนาโดยนาย Andrew S. Tanenbaum ในปี ค.ศ. 1987 และเขาเองก็ได้เขียนหนังสือชื่อว่า “Operating Systems: Design and Implementation” ร่วมกับนาย Albert Woodhull เพื่อต้องการที่จะเผยแพร่แนวทางการออกแบบและพัฒนาระบบปฏิบัติการให้กับวงการด้านนี้
The GNU Core Utilities
จนกระทั่งปี ค.ศ. 1991 นักศึกษาสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัย Helsinki ประเทศฟินแลนด์ ชื่อนาย Linus Torvalds ได้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดตั้งโต๊ะของบริษัท IBM รุ่น Intel 80386 เพื่อใช้เป็นเครื่องฯสำหรับการล๊อกอินเพื่อเข้าไปใช้งานะรบบในห้องแล๊ปของมหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้นระบบปฏิบัติการ MS-DOS และ MINIX จะเป็นระบบปฏิบัติการหลักในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป เขาจึงได้มีแนวคิดที่จะสร้างระบบปฏิบัติการแบบเปิดและฟรี โดยมีพื้นฐานคล้ายระบบปฏิบัติการ UNIX (UNIX-like) ในช่วงแรกของการพัฒนาเขาได้พยายามพัฒนาเทอร์มินัล (Terminal Emulator) บนตัวระบบปฏิบัติการ MINIX แต่ก็ติดปัญหาทางด้านเทคนิคอยู่หลายอย่าง เขาจึงได้ตัดสินใจพัฒนาขึ้นเองใหม่ โดยได้ใช้เครื่องมือจากโครงการ GNU ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น C library, gcc, binutils, fileutils, make, emacs เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนา Kernel โดยพยายามพัฒนาโปรแกรมทั้งหมดตามมาตราฐาน POSIX เช่นเดียวกันระบบปฏิบัติการ UNIX จนในที่สุดก็สามารถออกมาได้สำเร็จในชื่อที่ตั้งขึ้นมาว่า “Freax” ซึ่งเป็นการผสมคำจากคำทั้งสามคำคือ Free, Freak และ X และได้เปลี่ยนมาเป็น “Linux” ตามชื่อตัวเขาเอง ทาง Linus Torvalds ก็ได้เปิดเผยโค้ดโปรแกรมของระบบปฏิบัติการทั้งหมดสู่สาธารณะ เพื่อให้นักพัฒนาทั่วโลกช่วยกันปรับปรุงแก้ไข โดยได้ทำการส่งข้อความผ่านกลุ่มผู้ใช้ใน MINIX ด้วยข้อความดังนี้ “I’m doing a (free) operating system (just a hobby, won’t be big and professional like gnu) for 386(486) AT clones.”
โดยรุ่นของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ในเลข Linux 0.01 ยังค่อนข้างมีข้อจำกัดอยู่มาก คือจะสามารถถูกใช้ได้กับเครื่อง Intel 80386 เท่านั้น โดยภายในไฟล์ที่ได้เผยแพร่ออกไปจะประกอบไปด้วย 4 ไฟล์ที่ระบุรายละเอียดดังนี้
linux-0.01.tar.Z - sources to the kernel
bash.Z - compressed bash binary if you want to test it
update.Z - compressed update binary
RELNOTES-0.01
http://www.kernel.org/pub/linux/kernel/Historic/old-versions/RELNOTES-0.01
ในที่สุดการเผยแพร่ในครั้งนี้ก็ได้เกิดการปฏิวัติโดยไม่คาดฝันเพราะมีนักพัฒนาจากทั่วทุกสารทิศจำนวนไม่น้อยที่ได้นำระบบปฏิบัติการนี้ไปพัฒนาจนเกิดความพยายามร่วมกันในการพัฒนาระบบปฏิบัติการลีนุกซ์อย่างจริงจังเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าตัวนาย Linus Torvalds เองได้ถูกนาย Andrew Tanenbaum ผู้สร้าง MINIX ดูถูกไว้ว่าระบบปฏิบัติการลีนุกซ์จะล้าสมัยและจบลงก่อนปี ค.ศ. 1992 แต่ในที่สุดก็ได้พิสูจน์ว่าระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ของเขานั้นสามารถยืนหยัดมาได้จนถึงวันนี้ ด้วยจุดแข็งของ Linux Kernel ของนาย Linus Torvalds และ GNU applications ของนาย Richard Stallman จนนิยมเรียกว่า GNU/Linux (อ่านว่า กะ-นู-สแลส-ลีนุกซ์) ซึ่งนาย Linus Torvalds ก็ยังคงเป็นผู้ควบคุมจัดการ (Supervisor) การพัฒนา Linux Kernel และดูแลองค์กร Linux Foundation ต่อไป